กัปและการกำเนิดใหม่ของโลก

ในคติทางพระบวรพุทธศาสนา โลกนี้ย่อมมีการถึงแก่การทำลาย และย่อมมีการถือกำเนิดใหม่ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ที่เรียกว่าโลกนั้นก็เพราะมีความแตกสลายเป็นธรรมดา และจิตนั้นความจริงแล้วก็เกิดและดับอยู่ทุกขณะจิต สำหรับบางท่านที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตมาบ้าง เคยผ่านช่วงเวลาที่ต้องต่อสู้กับปัญหา เช่นในช่วงวิกฤติทางเศรษฐกิจบ้าง ช่วงวิกฤติหุ้นบ้าง ทรัพย์สมบัติถึงแก่ความพินาศบัาง หลังจากนั้นเคยล้มลุกคลุกคลานกว่าจะพาตัวเองมาจนกลับมาอยู่ในฐานะเดิมโดยชอบธรรม ในเรื่องนี้ทางพระอริยวินัยกล่าวว่าเป็นการผ่านการการเกิดและการดับของโลกมาครั้งหนึ่งซึ่งรู้ได้เฉพาะตน โลกนี้มีความแตกสลายเป็นธรรมดา ก็อะไรเล่าที่แตกสลาย จักษุย่อมแตกสลาย รูปย่อมแตกสลาย จักษุวิญญาณย่อมแตกสลาย จักษุสัมผัสย่อมแตกสลาย ฯลฯ และโลกย่อมว่างเปล่า ก็อะไรเล่าที่ว่างเปล่า จักษุย่อมว่างเปล่า รูปย่อมว่างเปล่า จักษุวิญญาณย่อมว่างเปล่า ฯลฯ ไม่ควรจะยึดถือว่าสิ่งใดเป็นแก่นสารเลย หากตั้งจิตไว้โดยชอบอย่างนี้ กิเลสอาทิราคะ โทสะ โมหะ ที่แรงกล้าย่อมไม่ครอบงำจิต พระผู้มีพระภาคตรัสแก่ท่านพระอานนท์ว่า

       “ดูกรอานนท์ อริยสาวกผู้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งใน
 จักษุ ทั้งในรูป ทั้งในจักษุวิญญาณ ทั้งในจักษุสัมผัส ทั้งในสุขเวทนา ทุกข-
 *เวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ฯลฯ ย่อม
 เบื่อหน่ายทั้งในใจ ทั้งในธรรมารมณ์ ทั้งในมโนวิญญาณ ทั้งในมโนสัมผัส ทั้ง
 ในสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็น
 ปัจจัย เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จึงหลุดพ้น เมื่อ
 หลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหม-
 *จรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก”

 ผมจะขอยกตัวอย่างว่า บุคคลบางท่านแม้จะชื่อว่าลุ่มหลงมัวเมาในสุรานารี แต่ว่าเขาผ่านมาแล้วซึ่งการเกิดและการดับของโลกอย่างนี้ พยายามแก้ไขปัญหาด้วยกำลังสติปัญญา มิได้มีจิตประมาท เขาเสพสุรานารีก็เพราะเพื่อจะมีกำลังใจในการต่อสู้กับปัญหาชีวิต เมื่อเป็นเช่นนี้เขาก็ชื่อว่าดำเนินชีวิตด้วยการปฏิบัติธรรมครับ ยิ่งถ้าเขาอาศัยพระธรรมในพระบวรพุทธศาสนาด้วย ปัญหาบางอย่างจะคลี่คลายได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ก็เพราะพระปัญญาอันยิ่งแห่งองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงพระนามว่าพระศรีศากยมุนีโคดมพระองค์นั้น ผมยกตัวอย่างนี้เผื่อว่าท่านผู้อ่านบางท่านจะพอนึกภาพได้ และในพระสูตรท้ายๆนั้นกล่าวถึงธรรมคือความไม่สะดุ้งกลัวเพราะไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวงครับ

 พระสูตรในวันนี้ยกมาจากพระสุตตันตปิฎก เล่ม10 สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ฉันนวรรคที่4  ครับ

 ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

********************************************************
                          ฉันนวรรคที่ ๔
                           ปโลกสูตร
      [๑๐๑] ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
 ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียก
 กันว่าโลกๆ ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอจึงเรียกกันว่า โลก พระผู้มีพระภาค
 ตรัสว่า ดูกรอานนท์ สิ่งใดมีความแตกสลายเป็นธรรมดา นี้เรียกว่าโลกใน
 อริยวินัย ก็อะไรเล่ามีความแตกสลายเป็นธรรมดา จักษุแลมีความแตกสลายเป็น
 ธรรมดา รูปมีความแตกสลายเป็นธรรมดา จักษุวิญญาณมีความแตกสลายเป็น-
 *ธรรมดา จักษุสัมผัสมีความแตกสลายเป็นธรรมดา สุขเวทนา ทุกขเวทนา
 หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ก็มีความแตกสลาย
 เป็นธรรมดา ฯลฯ ใจมีความแตกสลายเป็นธรรมดา ธรรมารมณ์มีความแตกสลาย
 เป็นธรรมดา มโนวิญญาณมีความแตกสลายเป็นธรรมดา มโนสัมผัสมีความแตก
 สลายเป็นธรรมดา สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะ
 มโนสัมผัสเป็นปัจจัย ก็มีความแตกสลายเป็นธรรมดา ดูกรอานนท์ สิ่งใดมี
 ความแตกสลายเป็นธรรมดา นี้เรียกว่าโลกในอริยวินัย ฯ
                           จบสูตรที่ ๑
                            สุญญสูตร
      [๑๐๒] ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ ฯลฯ ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาค
 ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่าโลกว่างเปล่าๆ ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ
 จึงเรียกว่า โลกว่างเปล่า  พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ เพราะว่างเปล่า
 จากตนหรือจากของๆ ตน ฉะนั้นจึงเรียกว่า โลกว่างเปล่า อะไรเล่าว่างเปล่า
 จากตนหรือจากของๆ ตน จักษุแลว่างเปล่าจากตนหรือจากของๆ ตน รูป
 ว่างเปล่าจากตนหรือจากของๆ ตน จักษุวิญญาณว่างเปล่าจากตนหรือจากของๆ
 ตน จักษุสัมผัสว่างเปล่าจากตนหรือจากของๆ ตน สุขเวทนา ทุกขเวทนา
 หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ก็ว่างเปล่าจากตน
 หรือจากของๆ ตน ฯลฯ ใจว่างเปล่าจากตนหรือจากของๆ ตน ธรรมารมณ์
 ว่างเปล่าจากตนหรือจากของๆ ตน มโนวิญญาณว่างเปล่าจากตนหรือจากของๆ ตน
 มโนสัมผัสว่างเปล่าจากตนหรือจากของๆ ตน สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรือ
 อทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัยก็ว่างเปล่าจากตนหรือจาก
 ของๆ ตน ดูกรอานนท์ เพราะว่างเปล่าจากตนหรือจากของๆ ตน ฉะนั้นจึงเรียกว่า
 โลกว่างเปล่า ฯ
                           จบสูตรที่ ๒
                           สังขิตสูตร
      [๑๐๓] ฯลฯ ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่
 พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอประทานโอกาส ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดง
 ธรรมแก่ข้าพระองค์โดยย่อ ที่ข้าพระองค์ได้ฟังแล้ว พึงเป็นผู้ๆ เดียว หลีกออก
 จากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่เถิด พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
 ดูกรอานนท์ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน จักษุเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ
      ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯ
      พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า ฯ
      อา. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า ฯ
      พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควร
 หรือหนอที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ฯ
      อา. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
      พ. รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ
      อา. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯ
      พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า ฯ
      อา. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า ฯ
      พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือ
 หนอที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ฯ
      อา. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
      พ. จักษุวิญญาณ จักษุสัมผัส สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุข-
 *เวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย  เที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ
      อา. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯ
      พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือสุขเล่า ฯ
      อา. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า ฯ
      พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือ
 หนอที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ฯ
      อา. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯลฯ
      พ. ใจเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ
      อา. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯ
      พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า ฯ
      อา. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า ฯ
      พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือ
 หนอที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ฯ
      อา. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
      พ. มโนวิญญาณ มโนสัมผัส สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขม-
 *สุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย เที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ
      อา. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯ
      พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า
      อา. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า
      พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือ
 หนอที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา
      อา. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า
      ดูกรอานนท์ อริยสาวกผู้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งใน
 จักษุ ทั้งในรูป ทั้งในจักษุวิญญาณ ทั้งในจักษุสัมผัส ทั้งในสุขเวทนา ทุกข-
 *เวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ฯลฯ ย่อม
 เบื่อหน่ายทั้งในใจ ทั้งในธรรมารมณ์ ทั้งในมโนวิญญาณ ทั้งในมโนสัมผัส ทั้ง
 ในสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็น
 ปัจจัย เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จึงหลุดพ้น เมื่อ
 หลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหม-
 *จรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก
                           จบสูตรที่ ๓
                            ฉันนสูตร
      [๑๐๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน
 กลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ สมัยนั้นแล ท่านพระสารีบุตร ท่าน
 พระมหาจุนทะ และท่านพระฉันนะ อยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ สมัยนั้นแล ท่านพระ
 ฉันนะอาพาธ ถึงความทุกข์ เป็นไข้หนัก ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเย็น ท่านพระ-
 *สารีบุตรออกจากที่พักผ่อนแล้ว เข้าไปหาท่านพระมหาจุนทะถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว
 ได้กล่าวกะท่านพระมหาจุนทะว่า ดูกรท่านจุนทะ เราจงพากันเข้าไปหาท่าน
 พระฉันนะ ถามถึงความเป็นไข้เถิด ท่านพระมหาจุนทะรับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว
 ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาจุนทะ เข้าไปหาท่านพระฉันนะถึงที่
 อยู่ แล้วนั่งบนอาสนะที่ปูไว้ ครั้นแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้ถามท่านพระฉันนะว่า
 ดูกรท่านฉันนะ ท่านพออดทนได้หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนา
 ลดลง ไม่กำเริบขึ้น ความทุเลาปรากฏ ความกำเริบไม่ปรากฏหรือ ฯ
      [๑๐๕] ท่านพระฉันนะกล่าวว่า ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร กระผมทนไม่
 ไหว ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ ทุกขเวทนาของกระผมกำเริบหนัก ไม่ลดลงเลย
 ความกำเริบปรากฏ ความทุเลาไม่ปรากฏ เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีกำลัง เอาเหล็ก
 แหลมคมทิ่มศีรษะ ฉันใด ลมอันกล้ายิ่งเข้ากระทบที่ศีรษะของกระผม ก็ฉันนั้น
 เหมือนกัน ฯลฯ เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีกำลังเอาเส้นเชือกหนังอันเหนียวขันที่ศีรษะ
 ฉันใด ลมอันกล้ายิ่งเสียดแทงที่ศีรษะของกระผม ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ฯลฯ
 เปรียบเหมือนนายโคฆาตหรือลูกมือของนายโคฆาตผู้ขยัน เอามีดสำหรับแล่เนื้อ
 โคที่คมกรีดท้อง แม้ฉันใด ลมอันกล้ายิ่งย่อมเสียดแทงท้องของกระผม ฉันนั้น
 เหมือนกัน ฯลฯ เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีกำลัง ๒ คน จับบุรุษผู้มีกำลังน้อยกว่า
 คนละแขน ลนให้เร่าร้อนบนหลุมถ่านเพลิง แม้ฉันใด ความเร่าร้อนในกายของ
 กระผมก็มากยิ่ง ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร กระผมทนไม่ไหว
 เยียวยาอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ ทุกขเวทนาของกระผมกำเริบหนัก ไม่ลดลงเลย
 ความกำเริบปรากฏ  ความทุเลาไม่ปรากฏ ท่านพระฉันนะกล่าวว่า ข้าแต่ท่านพระ
 สารีบุตร กระผมจักนำศาตรามา ไม่ปรารถนาเป็นอยู่ ดังนี้แล้ว ก็นำศาตรามา ฯ
      [๑๐๖] ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า ท่านพระฉันนะจงเยียวยาอัตภาพให้
 เป็นไปเถิด เราทั้งหลายปรารถนาให้ท่านพระฉันนะเยียวยาอัตภาพให้เป็นไปอยู่
 ถ้าโภชนะเป็นที่สบายมิได้มีแก่ท่านพระฉันนะ ผมจักแสวงหามาให้ ถ้าเภสัชเป็น
 ที่สบายมิได้มีแก่ท่านพระฉันนะ ผมจักแสวงหามาให้ ถ้าพวกอุปัฏฐากที่สมควร
 มิได้มีแก่ท่านพระฉันนะ ผมจักอุปัฏฐากเอง ท่านพระฉันนะอย่านำศาตรามาเลย
 จงเยียวยาอัตภาพให้เป็นไปเถิด เราทั้งหลายปรารถนาให้ท่านพระฉันนะเยียวยา
 อัตภาพให้เป็นไปอยู่ ท่านพระฉันนะกล่าวว่า ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร โภชนะ
 เป็นที่สบายของกระผมมิใช่ไม่มี โภชนะเป็นที่สบายของกระผมมีอยู่ แม้อุปัฏฐาก
 เป็นที่สบายของกระผมก็มิใช่ไม่มี เภสัชเป็นที่สบายของกระผมมีอยู่ แม้อุปัฏฐาก
 ที่สมควรของกระผมมิใช่ไม่มี อุปัฏฐากที่สมควรของกระผมมีอยู่ ก็พระศาสดาอัน
 กระผมบำเรอแล้วด้วยอาการเป็นที่พอใจอย่างเดียว ไม่บำเรอด้วยอาการเป็นที่ไม่พอ
 ใจตลอดกาลนานมา ข้อที่พระสาวกบำเรอพระศาสดาด้วยอาการเป็นที่พอใจ ไม่
 บำเรอด้วยอาการเป็นที่ไม่พอใจ นี้สมควรแก่พระสาวก ความบำเรอนั้นไม่เป็นไป
 ฉันนภิกษุจักนำศาตรามา ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร ขอท่านจงทรงจำความนี้ไว้อย่างนี้
 ดังนี้เถิด ฯ
      [๑๐๗] สา. เราทั้งหลายขอถามปัญหาบางข้อกะท่านพระฉันนะ ถ้าท่าน
 พระฉันนะให้โอกาสเพื่อจะแก้ปัญหา ฯ
      ฉ. ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร นิมนต์ถามเถิด กระผมฟังแล้วจักให้ทราบ ฯ
      สา. ท่านพระฉันนะ ท่านย่อมพิจารณาเห็นจักษุ จักษุวิญญาณและธรรม
 ทั้งหลายที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุวิญญาณว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตน
 ของเรา ฯลฯ ท่านย่อมพิจารณาเห็นใจ มโนวิญญาณ และธรรมทั้งหลายที่พึงรู้
 แจ้งด้วยมโนวิญญาณว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ดังนี้
 หรือ ฯ
      ฉ. ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร กระผมย่อมพิจารณาเห็นจักษุ จักษุวิญญาณ
 และธรรมทั้งหลายที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุวิญญาณว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา
 นั่นไม่ใช่เป็นตัวตนของเรา ฯลฯ กระผมย่อมพิจารณาเห็นใจ มโนวิญญาณ และ
 ธรรมทั้งหลายที่พึงรู้แจ้งด้วยมโนวิญญาณว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่น
 ไม่ใช่เป็นตัวตนของเรา ฯ
      [๑๐๘] สา. ดูกรท่านพระฉันนะ ท่านเห็นอย่างไร รู้อย่างไร ในจักษุ
 ในจักษุวิญญาณ และในธรรมทั้งหลายที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุวิญญาณ จึงพิจารณา
 เห็นจักษุ จักษุวิญญาณ และธรรมทั้งหลายที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุวิญญาณว่า นั่นไม่
 ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่เป็นตัวตนของเรา ฯลฯ ท่านเห็นอย่างไร รู้
 อย่างไรในใจ ในมโนวิญญาณ และในธรรมทั้งหลายที่พึงรู้แจ้งด้วยมโนวิญญาณ
 จึงพิจารณาเห็นใจ มโนวิญญาณ และธรรมทั้งหลายที่พึงรู้แจ้งด้วยมโนวิญญาณว่า
 นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่เป็นตัวตนของเรา ฯ
      [๑๐๙] ฉ. ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร กระผมเห็นความดับ รู้ความดับ
 ในจักษุ ในจักขุวิญญาณ และในธรรมทั้งหลายที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุวิญญาณ จึง
 พิจารณาเห็นจักษุ จักษุวิญญาณ และธรรมทั้งหลายที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุวิญญาณว่า
 นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ฯลฯ กระผมเห็นความดับ
 รู้ความดับ ในใจ ในมโนวิญญาณ และในธรรมทั้งหลายที่พึงรู้แจ้งด้วยมโน
 วิญญาณ จึงพิจารณาเห็นใจ มโนวิญญาณ และธรรมทั้งหลายที่พึงรู้แจ้งด้วย
 มโนวิญญาณว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ฯ
      [๑๑๐] เมื่อท่านพระฉันนะกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระมหาจุนทะได้กล่าว
 กะท่านพระฉันนะว่า ดูกรท่านพระฉันนะ เพราะเหตุนั้นแล แม้ความพิจารณาเห็นนี้
 เป็นคำสอนของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ท่านพึงทำไว้ในใจให้ดีตลอดกาลเป็น
 นิตย์ไป ความหวั่นไหวของบุคคลที่มีตัณหา มานะและทิฐิอาศัยอยู่ ยังมีอยู่
 ความหวั่นไหวย่อมไม่มีแก่บุคคลที่ไม่มีตัณหา มานะและทิฐิอาศัยอยู่ เมื่อความ
 หวั่นไหวไม่มี ย่อมมีปัสสัทธิ เมื่อมีปัสสัทธิ ก็ไม่มีความเพลิดเพลิน เมื่อไม่มี
 ความเพลิดเพลิน ความมาความไปก็ไม่มี เมื่อความมาความไปไม่มี จุติและอุปบัติ
 ก็ไม่มี เมื่อจุติและอุปบัติไม่มี โลกนี้และโลกหน้าก็ไม่มี และระหว่างโลกทั้งสอง
 ก็ไม่มี นี้แหละเป็นที่สุดแห่งทุกข์ ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหา
 จุนทะ ครั้นกล่าวสอนท่านพระฉันนะด้วยโอวาทนี้แล้ว ลุกจากอาสนะหลีกไป
 ครั้นเมื่อท่านทั้งสองหลีกไปแล้วไม่นาน ท่านพระฉันนะก็นำศาตรามา ฯ
      [๑๑๑] ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
 ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้
 ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระฉันนะนำศาตรามาแล้ว
 ท่านมีคติและอภิสัมปรายภพเป็นอย่างไร พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า
 ดูกรสารีบุตร ความเป็นผู้ไม่เข้าไป อันฉันนภิกษุพยากรณ์แล้วต่อหน้าเธอมิใช่
 หรือ ฯ
      สา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วัชชีคามอันมีชื่อว่า บุพพวิชชนะมีอยู่ สกุล
 ที่เป็นมิตรและสกุลที่เป็นสหายในวัชชีคามนั้น เป็นสกุลที่ท่านพระฉันนะเข้าไป
 มีอยู่ ฯ
      พ. ดูกรสารีบุตร ก็สกุลที่เป็นมิตรและสกุลที่เป็นสหายเหล่านั้น เป็น
 สกุลที่พระฉันนภิกษุเข้าไป มีอยู่ แต่เราไม่กล่าวว่า ฉันนภิกษุมีสกุลที่ตนพึง
 เข้าไปด้วยเหตุเท่านั้นเลย ภิกษุใดแล ละทิ้งกายนี้ด้วย เข้าถือกายอื่นด้วย เรา
 กล่าวภิกษุนั้นว่า มีสกุลที่ตนพึงเข้าไป สกุลนั้นย่อมไม่มีแก่ฉันนภิกษุ ฉันนภิกษุ
 มิได้เข้าไป ศาตราอันฉันนภิกษุนำมาแล้ว ดูกรสารีบุตร เธอพึงทรงจำความนี้ไว้
 อย่างนี้ดังนี้เถิด ฯ
                           จบสูตรที่ ๔
                            ปุณณสูตร
      [๑๑๒] ครั้งนั้นแล ท่านพระปุณณะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่-
 *ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอ
 ประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์โดยย่อที่
 ข้าพระองค์ได้สดับแล้วพึงเป็นผู้ๆ เดียว หลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความ
 เพียร มีใจเด็ดเดี่ยว อยู่เถิด พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรปุณณะ รูปที่พึงรู้แจ้ง
 ด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด
 มีอยู่ ถ้าภิกษุยินดี กล่าวสรรเสริญ พัวพันรูปนั้น เรากล่าวว่า เมื่อภิกษุนั้นยินดี
 กล่าวสรรเสริญ พัวพันรูปนั้น ความเพลินก็เกิดขึ้น ดูกรปุณณะ เพราะความ
 เพลินเกิดขึ้น จึงเกิดทุกข์ ฯลฯ ดูกรปุณณะ ธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งด้วยใจ อันน่า
 ปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด มีอยู่ ถ้าภิกษุ
 ยินดี กล่าวสรรเสริญ พัวพันธรรมารมณ์นั้น เรากล่าวว่า เมื่อภิกษุนั้นยินดี
 กล่าวสรรเสริญ พัวพันธรรมารมณ์นั้น ความเพลินก็บังเกิดขึ้น ดูกรปุณณะ
 เพราะความเพลินเกิดขึ้น จึงเกิดทุกข์ ฯ
      [๑๑๓] ดูกรปุณณะ รูปทั้งหลายที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา
 น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด มีอยู่ ถ้าภิกษุไม่ยินดี
 ไม่กล่าวสรรเสริญ ไม่พัวพันรูปนั้น เรากล่าวว่า เมื่อภิกษุนั้นไม่ยินดี ไม่กล่าว
 สรรเสริญ ไม่พัวพันรูปนั้น ความเพลินก็ดับไป ดูกรปุณณะ เพราะความเพลิน
 ดับไป ทุกข์จึงดับ ฯลฯ ดูกรปุณณะ ธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งด้วยใจ อันน่าปรารถนา
 น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด มีอยู่ ถ้าภิกษุไม่ยินดี
 ไม่กล่าวสรรเสริญ ไม่พัวพันธรรมารมณ์นั้น เรากล่าวว่า เมื่อภิกษุนั้นไม่ยินดี
 ไม่กล่าวสรรเสริญ ไม่พัวพันธรรมารมณ์นั้น ความเพลินก็ดับไป ดูกรปุณณะ
 เพราะความเพลินดับไป ทุกข์จึงดับ ดูกรปุณณะ ด้วยประการฉะนี้ เธอนั้นจึง
 ไม่ห่างไกลจากธรรมวินัยนี้ ฯ
      [๑๑๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูล
 พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ยังไม่เบาใจในธรรมนี้
 เพราะข้าพระองค์ยังไม่รู้ชัดตามความเป็นจริง ซึ่งความเกิด ความดับ คุณ โทษ
 และความสลัดออกแห่งผัสสายตนะ ๖ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ เธอจะ
 สำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เธอย่อมพิจารณาเห็นจักษุว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่น
 ไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ดังนี้หรือ ฯ
      ภิ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
      พ. ดีละ ภิกษุ ก็ในข้อนี้ จักษุเป็นอันเธอพิจารณาเห็นด้วยดีด้วยปัญญา
 อันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่
 ตัวตนของเรา ผัสสายตนะที่ ๑ นี้เป็นอันเธอละขาดแล้วเพื่อไม่เกิดอีกต่อไป
 ด้วยอาการอย่างนี้ ฯลฯ
      เธอพิจารณาเห็นใจว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตน
 ของเรา ดังนี้หรือ ฯ
      ภิ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
      พ. ดีละ ภิกษุ ก็ในข้อนั้น ใจจักเป็นอันเธอพิจารณาเห็นด้วยดีด้วย
 ปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา
 นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ผัสสายตนะที่ ๖ นี้ จักเป็นอันเธอละขาดแล้วเพื่อความ
 ไม่เกิดอีกต่อไป ด้วยอาการอย่างนี้ ดูกรปุณณะ ดีละ เธออันเรากล่าวสอนแล้ว
 ด้วยโอวาทอันย่อนี้ จักอยู่ในชนบทไหน ฯ
      ท่านพระปุณณเถระทูลว่า พระเจ้าข้า ชนบทชื่อสุนาปรันตะมีอยู่ ข้าพระ-
 *องค์จักอยู่ในชนบทนั้น ฯ
      [๑๑๕] พ. ดูกรปุณณะ พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทดุร้าย หยาบ
 คายนัก ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักด่า จักบริภาษเธอ ในข้อนั้น เธอ
 จักมีความคิดอย่างไร ฯ
      ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักด่า จัก
 บริภาษข้าพระองค์ไซร้ ในข้อนั้น ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ว่า มนุษย์ชาว
 สุนาปรันตชนบทนี้เจริญหนอ เจริญดีหนอ ที่เขาไม่ประหารเราด้วยมือ ข้าแต่
 พระผู้มีพระภาค ในข้อนี้ ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ ข้าแต่พระสุคต ในข้อนี้
 ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ ฯ
      พ. ดูกรปุณณะ ก็ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักประหารเธอด้วย
 มือเล่า ในข้อนั้น เธอจักมีความคิดอย่างไร ฯ
      ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักประหาร
 ข้าพระองค์ด้วยมือไซร้ ในข้อนั้น  ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ว่า พวกมนุษย์
 ชาวสุนาปรันตชนบทเจริญหนอ เจริญดีหนอ ที่เขาไม่ประหารเราด้วยก้อนดิน
 ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ในข้อนี้ ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ ข้าแต่พระสุคต
 ในข้อนี้ ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ ฯ
      พ. ดูกรปุณณะ ก็ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักประหารเธอด้วย
 ก้อนดินเล่า ในข้อนั้น เธอจักมีความคิดอย่างไร ฯ
      ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักประหาร
 ข้าพระองค์ด้วยก้อนดินไซร้ ในข้อนั้น ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ว่า พวก
 มนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทนี้เจริญหนอ เจริญดีหนอ ที่เขาไม่ประหารเราด้วย
 ท่อนไม้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ในข้อนี้ ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ ข้าแต่
 พระสุคต ในข้อนี้ ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ ฯ
      พ. ดูกรปุณณะ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักประหารเธอด้วย
 ท่อนไม้เล่า ในข้อนั้น เธอจักมีความคิดอย่างไร ฯ
      ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักประหาร
 ข้าพระองค์ด้วยท่อนไม้ไซร้ ในข้อนั้น ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ว่า พวกมนุษย์
 ชาวสุนาปรันตชนบทนี้เจริญหนอ เจริญดีหนอ ที่เขาไม่ประหารเราด้วยศาตรา
 ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ในข้อนี้ ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ ข้าแต่พระสุคต
 ในข้อนี้ ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ ฯ
      พ. ดูกรปุณณะ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักประหารเธอด้วย
 ศาตราเล่า ในข้อนั้น เธอจักมีความคิดอย่างไร ฯ
      ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักประหาร
 ข้าพระองค์ด้วยศาตราไซร้ ในข้อนั้น ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ว่า พวก
 มนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทนี้เจริญหนอ เจริญดีหนอ ที่เขาไม่ปลงเราเสียจากชีวิต
 ด้วยศาตราอันคม ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ในข้อนี้ ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้
 ข้าแต่พระสุคต ในข้อนี้ ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ ฯ
      [๑๑๖] พ. ดูกรปุณณะ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักปลงเธอ
 เสียจากชีวิตด้วยศาตราอันคมเล่า ในข้อนั้น เธอจักมีความคิดอย่างไร ฯ
      ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักปลง
 ข้าพระองค์เสียจากชีวิตด้วยศาตราอันคมไซร้ ในข้อนั้น ข้าพระองค์จักมีความคิด
 อย่างนี้ว่า พระสาวกทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคนั้น อึดอัดระอาเกลียดชังอยู่ด้วย
 กายและชีวิต ย่อมแสวงหาศาตราสำหรับปลงชีวิตเสีย มีอยู่ ศาตราสำหรับปลง
 ชีวิตที่เราแสวงหาอยู่นั้น เราได้แล้ว ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ในข้อนี้ ข้าพระองค์
 จักมีความคิดอย่างนี้ ข้าแต่พระสุคต ในข้อนี้ ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ ฯ
      พ. ดีละๆ ปุณณะ เธอประกอบด้วยทมะและอุปสมะเช่นนี้ จักอาจอยู่
 ในสุนาปรันตชนบทได้ บัดนี้ เธอย่อมรู้กาลอันควรไปได้ ฯ
      [๑๑๗] ครั้งนั้นแล ท่านพระปุณณะชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มี-
 *พระภาค ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้ว เก็บ
 เสนาสนะแล้ว ถือบาตรและจีวรหลีกจาริกไปทางสุนาปรันตชนบท เมื่อเที่ยวจาริก
 ไปโดยลำดับ ก็บรรลุถึงสุนาปรันตชนบท ได้ยินว่า ท่านพระปุณณะอยู่ในสุนา-
 *ปรันตชนบทนั้น ครั้งนั้นแล ในระหว่างพรรษานั้น ท่านพระปุณณะให้ชาว-
 *สุนาปรันตชนบทแสดงตนเป็นอุบาสกประมาณ ๕๐๐ คน ได้ทำวิชชา ๓ ให้แจ้ง
 และปรินิพพานแล้ว ครั้งนั้นแล ภิกษุมากด้วยกันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
 ประทับ แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
 ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กุลบุตรชื่อว่าปุณณะที่พระผู้มีพระภาคตรัสสอนด้วยพระ
 โอวาทอย่างย่อนั้น ทำกาละแล้ว กุลบุตรนั้นมีคติเป็นอย่างไร มีอภิสัมปรายภพเป็น
 อย่างไร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรชื่อว่าปุณณะ เป็น
 บัณฑิต กล่าวคำจริง กล่าวธรรมสมควรแก่ธรรม มิได้ลำบากเพราะเหตุแห่งธรรม
 ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรชื่อว่าปุณณะปรินิพพานแล้ว ฯ
                           จบสูตรที่ ๕
                           พาหิยสูตร
      [๑๑๘] ครั้งนั้นแล ท่านพระพาหิยะได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
 ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอ
 ประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์โดยย่อ
 ที่ข้าพระองค์ได้ฟังแล้วพึงเป็นผู้ๆ เดียวหลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร
 มีใจเด็ดเดี่ยว อยู่เถิด ฯ
      พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพาหิยะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
 จักษุเที่ยงหรือไม่เที่ยง ท่านพระพาหิยะกราบทูลว่า ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯ
      พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า ฯ
      พา. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า ฯ
      พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือ
 หนอที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ฯ
      พา. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
      พ. รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ
      พา. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯลฯ
      พ. จักษุวิญญาณ จักษุสัมผัส สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุข
 เวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย เที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ
      พา. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯ
      พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า ฯ
      พา. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า ฯ
      พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือ
 หนอที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ฯ
      พา. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
      พ. ใจเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ
      พา. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯ
      พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า ฯ
      พา. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า ฯ
      พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือ
 หนอที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ฯ
      พา. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
      พ. ธรรมารมณ์เที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ
      พา. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯลฯ
      พ. มโนวิญญาณ มโนสัมผัส สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุข
 เวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย เที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ
      พา. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯ
      พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า ฯ
      พา. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า ฯ
      พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดาควรหรือ
 หนอที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ฯ
      พา. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
      พ. ดูกรพาหิยะ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย
 ทั้งในจักษุ ทั้งในรูป ทั้งในจักษุวิญญาณ ทั้งในจักษุสัมผัส ทั้งในสุขเวทนา
 ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ฯลฯ
 ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในใจ ทั้งในธรรมารมณ์ ทั้งในมโนวิญญาณ ทั้งในมโนสัมผัส
 ทั้งในสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็น
 ปัจจัย เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จึงหลุดพ้น เมื่อ
 หลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว
 พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้
 มี ฯ
      [๑๑๙] ครั้งนั้นแล ท่านพระพาหิยะชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มี
 พระภาค ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วหลีกไป
 ครั้งนั้นแล ท่านพระพาหิยะเป็นผู้ๆ เดียว หลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความ
 เพียร มีใจเด็ดเดี่ยว กระทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ซึ่งกุลบุตร
 ทั้งหลายออกบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง
 ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ได้รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควร
 ทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มีได้มี ก็แหละท่านพระพาหิยะได้
 เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย ฯ
                           จบสูตรที่ ๖
                          เอชสูตรที่ ๑
      [๑๒๐] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความหวั่นไหว
 เป็นโรค ความหวั่นไหวเป็นฝี ความหวั่นไหวเป็นลูกศร ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะ
 เหตุนั้นแล ตถาคตเป็นผู้ไม่มีความหวั่นไหว ปราศจากลูกศรอยู่ ดูกรภิกษุ
 ทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงเป็นผู้ไม่มีความหวั่นไหว
 ปราศจากลูกศรอยู่ ภิกษุไม่พึงสำคัญซึ่งจักษุ ไม่พึงสำคัญในจักษุ ไม่พึงสำคัญแต่
 จักษุ ไม่พึงสำคัญว่าจักษุของเรา ไม่พึงสำคัญซึ่งรูปทั้งหลาย ไม่พึงสำคัญในรูป
 ทั้งหลาย ไม่พึงสำคัญแต่รูปทั้งหลาย ไม่พึงสำคัญว่า รูปทั้งหลายของเรา ไม่พึง
 สำคัญซึ่งจักษุวิญญาณ ไม่พึงสำคัญในจักษุวิญญาณ ไม่พึงสำคัญแต่จักษุวิญญาณ
 ไม่พึงสำคัญว่า จักษุวิญญาณของเรา ไม่พึงสำคัญซึ่งจักษุสัมผัส ไม่พึงสำคัญใน
 จักษุสัมผัส ไม่พึงสำคัญแต่จักษุสัมผัส ไม่พึงสำคัญว่า จักษุสัมผัสของเรา ไม่พึง
 สำคัญซึ่งสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัส
 เป็นปัจจัย ไม่พึงสำคัญในสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้น
 เพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ไม่พึงสำคัญแต่สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุข
 เวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ไม่พึงสำคัญว่า สุขเวทนา
 ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ของเรา
 ไม่พึงสำคัญซึ่งโสตะ… ไม่พึงสำคัญซึ่งฆานะ… ไม่พึงสำคัญซึ่งกาย… ไม่พึงสำคัญ
 ซึ่งใจ ไม่พึงสำคัญในใจ ไม่พึงสำคัญแต่ใจ ไม่พึงสำคัญว่า ใจของเรา ไม่พึง
 สำคัญซึ่งธรรมารมณ์ทั้งหลาย … ไม่พึงสำคัญซึ่งมโนวิญญาณ ไม่พึงสำคัญในมโน
 วิญญาณ ไม่พึงสำคัญแต่มโนวิญญาณ ไม่พึงสำคัญว่า มโนวิญญาณของเรา ไม่
 พึงสำคัญซึ่งมโนสัมผัส ไม่พึงสำคัญในมโนสัมผัส ไม่พึงสำคัญแต่มโนสัมผัส
 ไม่พึงสำคัญว่ามโนสัมผัสของเรา ไม่พึงสำคัญซึ่งสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรือ
 อทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย ไม่พึงสำคัญในสุขเวทนา
 ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย ไม่พึง
 สำคัญแต่สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโน-
 *สัมผัสเป็นปัจจัย ไม่พึงสำคัญว่า สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา
 ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย ของเรา ไม่พึงสำคัญซึ่งสิ่งทั้งปวง ไม่พึง
 สำคัญในสิ่งทั้งปวง ไม่พึงสำคัญแต่สิ่งทั้งปวง ไม่พึงสำคัญว่า สิ่งทั้งปวงของเรา
 เธอนั้นเมื่อไม่สำคัญอย่างนี้ ก็ไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก เมื่อไม่ถือมั่น ก็ไม่สะดุ้ง
 ย่อมดับเฉพาะตนทีเดียว ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจ
 ที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ฯ
      [๑๒๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความหวั่นไหวเป็น
 โรค ความหวั่นไหวเป็นฝี ความหวั่นไหวเป็นลูกศร ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะ
 เหตุนั้นแล ตถาคตย่อมเป็นผู้ไม่มีความหวั่นไหว ปราศจากลูกศร เพราะเหตุนั้น
 แล ถึงแม้ภิกษุก็พึงหวังว่าเราพึงเป็นผู้ไม่มีความหวั่นไหว ปราศจากลูกศรอยู่ ฯ
                           จบสูตรที่ ๗
                          เอชสูตรที่ ๒
      [๑๒๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุไม่พึงสำคัญซึ่งจักษุ ไม่พึงสำคัญ
 ในจักษุ ไม่พึงสำคัญแต่จักษุ ไม่พึงสำคัญว่า จักษุของเรา ไม่พึงสำคัญซึ่งรูป
 ทั้งหลาย ไม่พึงสำคัญในรูปทั้งหลาย ไม่พึงสำคัญแต่รูปทั้งหลาย ไม่พึงสำคัญว่า
 รูปทั้งหลายของเรา ไม่พึงสำคัญซึ่งจักษุวิญญาณ ไม่พึงสำคัญในจักษุวิญญาณ ไม่
 พึงสำคัญแต่จักษุวิญญาณ ไม่พึงสำคัญว่า จักษุวิญญาณของเรา ไม่พึงสำคัญซึ่ง
 จักษุสัมผัส ไม่พึงสำคัญในจักษุสัมผัส ไม่พึงสำคัญแต่จักษุสัมผัส ไม่พึงสำคัญ
 ว่า จักษุสัมผัสของเรา ไม่พึงสำคัญซึ่งสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุข-
 *เวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ไม่พึงสำคัญในสุขเวทนา ทุกขเวทนา
 หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ไม่พึงสำคัญแต่
 สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็น
 ปัจจัย ไม่พึงสำคัญว่า สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้น
 เพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ของเรา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุย่อมสำคัญซึ่งสิ่งใด
 ย่อมสำคัญในสิ่งใด ย่อมสำคัญแต่สิ่งใด ย่อมสำคัญว่า สิ่งใดของเรา สิ่งนั้น
 ย่อมเป็นอย่างอื่นจากสิ่งนั้น โลกมีภาวะเป็นอย่างอื่น ข้องอยู่ในภพ ย่อมยินดี
 ภพนั่นแหละ ไม่พึงสำคัญซึ่งโสตะ ฯลฯ ไม่พึงสำคัญซึ่งฆานะ ฯลฯ ไม่พึง
 สำคัญซึ่งชิวหา ฯลฯ ไม่พึงสำคัญซึ่งกาย ฯลฯ ไม่พึงสำคัญซึ่งใจ ไม่พึงสำคัญ
 ในใจ ไม่พึงสำคัญแต่ใจ ไม่พึงสำคัญว่า ใจของเรา ไม่พึงสำคัญซึ่งธรรมารมณ์
 ทั้งหลาย ไม่พึงสำคัญในธรรมารมณ์ทั้งหลาย ไม่พึงสำคัญแต่ธรรมารมณ์ทั้งหลาย
 ไม่พึงสำคัญว่า ธรรมารมณ์ทั้งหลายของเรา ไม่พึงสำคัญซึ่งมโนวิญญาณ ไม่พึง
 สำคัญในมโนวิญญาณ ไม่พึงสำคัญแต่มโนวิญญาณ ไม่พึงสำคัญว่า มโนวิญญาณ
 ของเรา ไม่พึงสำคัญซึ่งมโนสัมผัส ไม่พึงสำคัญในมโนสัมผัส ไม่พึงสำคัญแต่
 มโนสัมผัส ไม่พึงสำคัญว่า มโนสัมผัสของเรา ไม่พึงสำคัญซึ่งสุขเวทนา ทุกข
 เวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย ไม่พึงสำคัญ
 ในสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็น
 ปัจจัย ไม่พึงสำคัญแต่สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้น
 เพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย ไม่พึงสำคัญว่า สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขม
 สุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย ของเรา ดูกรภิกษุทั้งหลาย
 ก็ภิกษุย่อมสำคัญซึ่งสิ่งใด ย่อมสำคัญในสิ่งใด ย่อมสำคัญแต่สิ่งใด ย่อมสำคัญ
 ว่า สิ่งใดของเรา สิ่งนั้นย่อมเป็นอย่างอื่นจากสิ่งนั้น โลกมีภาวะเป็นอย่างอื่น ข้อง
 อยู่ในภพ ย่อมยินดีภพนั่นแหละ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสำคัญซึ่งขันธ์
 ธาตุและอายตนะ ไม่พึงสำคัญในขันธ์ ธาตุและอายตนะ ไม่พึงสำคัญแต่ขันธ์
 ธาตุและอายตนะ ไม่พึงสำคัญว่า ขันธ์ ธาตุ และอายตนะของเรา เธอเมื่อไม่
 สำคัญอย่างนี้ ย่อมไม่ถือมั่นสิ่งอะไรๆ ในโลก เมื่อไม่ถือมั่น ย่อมไม่สะดุ้ง เมื่อ
 ไม่สะดุ้ง ย่อมดับเฉพาะตนทีเดียว ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่
 จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ฯ
                           จบสูตรที่ ๘
                          ทวยสูตรที่ ๑
      [๑๒๓] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงส่วน
 สองแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง ก็ส่วนสองเป็นไฉน คือ จักษุ
 และรูป ๑ โสตะและเสียง ๑ ฆานะและกลิ่น ๑ ชิวหาและรส ๑ กาย
 และโผฏฐัพพะ ๑ ใจและธรรมารมณ์ ๑ นี้เรียกว่าส่วนสอง ดูกรภิกษุ
 ทั้งหลาย บุคคลใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราบอกเลิกส่วนสองนั้นเสียแล้ว จักบัญญัติ
 ส่วนสองเป็นอย่างอื่น วาจาของบุคคลนั้นเป็นเรื่องของเทวดา ฯ ก็บุคคลนั้นถูก
 เขาถามเข้าแล้วก็อธิบายไม่ได้ และถึงความอึดอัดยิ่งขึ้น ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร
 เพราะข้อนั้นไม่ใช่วิสัย ฯ
                           จบสูตรที่ ๙
                          ทวยสูตรที่ ๒
      [๑๒๔] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิญญาณเกิดขึ้น
 เพราะอาศัยส่วนสอง วิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยส่วนสองเป็นอย่างไร จักษุ
 วิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยจักษุและรูป จักษุไม่เที่ยง มีความแปรปรวน มีความ
 เป็นอย่างอื่น รูปไม่เที่ยง มีความแปรปรวน มีความเป็นอย่างอื่น ส่วนสองอย่าง
 นี้ หวั่นไหวและอาพาธ ไม่เที่ยง มีความแปรปรวน มีความเป็นอย่างอื่น จักษุ
 วิญญาณไม่เที่ยง มีความแปรปรวน มีความเป็นอย่างอื่น แม้เหตุปัจจัยเพื่อความ
 เกิดขึ้นแห่งจักษุวิญญาณก็ไม่เที่ยง มีความแปรปรวน มีความเป็นอย่างอื่น ดูกร-
 *ภิกษุทั้งหลาย ก็จักษุวิญญาณที่เกิดขึ้นแล้ว  เพราะอาศัยปัจจัยอันไม่เที่ยงจักเป็น
 ของเที่ยงแต่ไหน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความประจวบ ความประชุม ความพร้อมกัน
 แห่งธรรมทั้ง ๓ นี้แล เรียกว่าจักษุสัมผัส ฯ
      [๑๒๕] ถึงจักษุสัมผัสก็ไม่เที่ยง มีความแปรปรวน มีความเป็นอย่างอื่น
 แม้เหตุปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่งจักษุสัมผัสก็ไม่เที่ยง มีความแปรปรวน มีความ
 เป็นอย่างอื่น ก็จักษุสัมผัสที่เกิดขึ้นแล้ว เพราะอาศัยปัจจัยอันไม่เที่ยง จักเป็น
 ของเที่ยงแต่ไหน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลอันผัสสะกระทบแล้วย่อมรู้สึก อัน
 ผัสสะกระทบแล้วย่อมคิด อันผัสสะกระทบแล้วย่อมจำ แม้ธรรมเหล่านี้ก็หวั่นไหว
 และอาพาธ ไม่เที่ยง มีความแปรปรวน มีความเป็นอย่างอื่น ฯลฯ ชิวหาวิญญาณ
 ย่อมเกิดขึ้นเพราะอาศัยลิ้นและรส ลิ้นไม่เที่ยง มีความแปรปรวน มีความเป็น
 อย่างอื่น รสไม่เที่ยงมีความแปรปรวน มีความเป็นอย่างอื่น ส่วนสองอย่างนี้
 หวั่นไหวและอาพาธ ไม่เที่ยง มีความแปรปรวน มีความเป็นอย่างอื่น ชิวหา
 วิญญาณ ไม่เที่ยง มีความแปรปรวน มีความเป็นอย่างอื่น  แม้เหตุปัจจัยเพื่อ
 ความเกิดขึ้นแห่งชิวหาวิญญาณ ก็ไม่เที่ยง มีความแปรปรวน มีความเป็นอย่างอื่น
 ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ชิวหาวิญญาณที่เกิดขึ้นแล้ว  เพราะอาศัยปัจจัยอันไม่เที่ยง
 จักเป็นของเที่ยงแต่ไหน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความประจวบ ความประชุม ความ
 พร้อมกัน แห่งธรรมทั้ง ๓ นี้แล เรียกว่าชิวหาสัมผัส ฯ
      [๑๒๖] แม้ชิวหาสัมผัสก็ไม่เที่ยง มีความแปรปรวน มีความเป็นอย่าง
 อื่น แม้เหตุปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่งชิวหาสัมผัสก็ไม่เที่ยง มีความแปรปรวน
 มีความเป็นอย่างอื่น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ชิวหาสัมผัสที่เกิดขึ้นแล้ว เพราะอาศัย
 ปัจจัยอันไม่เที่ยง จักเป็นของเที่ยงแต่ไหน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลอันผัสสะ
 กระทบแล้วย่อมรู้สึก อันผัสสะกระทบแล้วย่อมคิด อันผัสสะกระทบแล้วย่อมจำ
 แม้ธรรมเหล่านี้ก็หวั่นไหวและอาพาธ ไม่เที่ยง มีความแปรปรวน มีความเป็น
 อย่างอื่น ฯลฯ มโนวิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยใจและธรรมารมณ์ ใจไม่เที่ยง มี
 ความแปรปรวน มีความเป็นอย่างอื่น ธรรมทั้งหลายก็ไม่เที่ยง มีความแปรปรวน
 มีความเป็นอย่างอื่น ส่วนสองอย่างนี้หวั่นไหวและอาพาธ ไม่เที่ยง มีความแปร
 ปรวน มีความเป็นอย่างอื่น มโนวิญญาณไม่เที่ยง มีความแปรปรวน มีความเป็น
 อย่างอื่น แม้เหตุปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่งมโนวิญญาณก็ไม่เที่ยง มีความ
 แปรปรวน มีความเป็นอย่างอื่น มโนวิญญาณที่เกิดขึ้นแล้ว เพราะอาศัยปัจจัย
 อันไม่เที่ยง จักเป็นของเที่ยงแต่ไหน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความประจวบ ความ
 ประชุม ความพร้อมกัน แห่งธรรม ๓ ประการนี้แล เรียกว่ามโนสัมผัส ฯ
      [๑๒๗] แม้มโนสัมผัสก็ไม่เที่ยง มีความแปรปรวน มีความเป็นอย่างอื่น
 แม้เหตุปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่งมโนสัมผัสก็ไม่เที่ยง มีความแปรปรวน มีความ
 เป็นอย่างอื่น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มโนสัมผัสที่เกิดขึ้นแล้ว เพราะอาศัยปัจจัย
 อันไม่เที่ยง จักเป็นของเที่ยงแต่ไหน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลอันผัสสะกระทบ
 แล้วย่อมรู้สึก อันผัสสะกระทบแล้วย่อมคิด อันผัสสะกระทบแล้วย่อมจำ แม้
 ธรรมเหล่านี้ก็หวั่นไหวและอาพาธ ไม่เที่ยง มีความแปรปรวน มีความเป็นอย่างอื่น
 ดูกรภิกษุทั้งหลาย มโนวิญญาณย่อมเกิดเพราะอาศัยส่วนสองอย่าง ด้วยประการ
 ฉะนี้แล ฯ
                          จบสูตรที่ ๑๐
                         จบฉันนวรรคที่ ๔
                         ————
                    รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
      ๑. ปโลกสูตร ๒. สุญญสูตร ๓. สังขิตตสูตร ๔. ฉันนสูตร
 ๕. ปุณณสูตร ๖. พาหิยสูตร ๗. เอชสูตรที่ ๑ ๘. เอชสูตรที่ ๒ ๙. ทวย
 สูตรที่ ๑ ๑๐. ทวยสูตรที่ ๒ ฯ
                        ————–
************************************************

ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ

ใส่ความเห็น